โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กับสถานการณ์ปัจจุบัน

เกาะติดยอดผู้ติดเชื้อโควิด - 19   ระหว่างวันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2565

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูล โควิด – 19 จากกรมประชาสัมพันธ์  รายสัปดาห์ พบว่า

    มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)   จำนวน 3,166 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 452 ราย/วัน

    มีผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์)  จำนวน 42 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 6 ราย/วัน

    มีผู้หายป่วยสะสม 2,474,938 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

    มีผู้เสียชีวิตสะสม 11,339 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

             นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย สัปดาห์ที่ 45 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า กรมควบคุมโรค ได้ติดตามข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากทั้งผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่ดูแลอาการตนเองที่บ้านผ่านทางระบบการรายงานโดย สปสช. และดำเนินการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงใน 8 จังหวัด เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากขึ้นด้วย แม้ว่าผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ 45 (วันที่ 6 – 12 พฤศจิกายน 2565) มากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด 19 และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค หากติดเชื้อโควิด 19 มีโอกาสป่วยหนักได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคประจำตัว

             นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่านอกจากนี้แล้ว เน้นมาตรการตรวจรักษากลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ทั้งมีไข้ ไอ และ ATK พบเชื้อ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยเร็ว ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป) โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้น้อย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียม ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอเพื่อรองรับการระบาดของโรคที่กำลังเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยสามารถสอบถามวันเวลาที่ให้บริการ ก่อนไปรับการฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในส่วนของการรับมือกับโรค โควิด – 19 ของประเทศไทย

ได้รับคำชื่นชมจาก  WHO  ว่าเป็น 1 ใน 4 ประเทศเข้มแข็งรับมือโควิด19

ยกเป็นคู่มือแนะนำการรับมือโรคอุบัติใหม่ทั่วโลก

               นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghrebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีหนังสือส่งตรงถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ระบุถึงความคืบหน้าที่ WHO ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากทั่วโลกในและเป็นประเทศเดียวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินโครงการกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) และถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤตโควิด19 โดยได้ชื่นชมประเทศไทยต่อการดำเนินงานที่เป็นจุดเด่นของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้ช่วยเหลือคนไทยและผู้อาศัยในประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ การมีระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน จากการนำเสนอการดำเนินงานของประเทศไทยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่อนามัยโลก ( World Health Assembly : WHA) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับและสนใจจากสมาชิกของ WHO เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ขณะนี้ ตัวอย่างของประเทศไทยถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือแนะนำที่สมาชิก WHO จะนำไปปรับใช้การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโลกอุบัติใหม่ เพื่อประโยชน์ของคนทั่วโลกต่อไป

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

1.กระทรวงสาธารณสุข

2.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

3.ศูนย์ข้อมูล COVID – 19