เวลานี้ถ้าไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้ กับ บทละคร “หมอหลวง” ที่ได้นำการแพทย์แผนไทย วิธีการรักษาด้วยสมุนไพร และหัตถการต่าง ๆมาทำเป็นบทละคร ฉากหนึ่งในละครกล่าวถึง การเกิดโรคระบาดผู้คนเจ็บป่วยล้มตายราวใบไม้ซึ่งอาการใกล้เคียงกับอาการของ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจุบันยังมีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ ผู้ป่วยบางราย มีอาการปอดอักเสบ จนทำให้ ปอด ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มศักยภาพเหมือนเดิม เพราะถึงจะหายจากโรคแล้วแต่การอักเสบอาจทิ้งร่องรอยไว้ในปอดที่เป็นพังผืดหรือแผล ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง
อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันที่มี ภาวะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสามารถลอยเข้าไปถึงปอดได้ แล้วทำให้เกิดการอักเสบ หากได้รับ ในปริมาณมากและยาวนานจะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ ถ้าอยู่ในสภาวะปกติ อาจจะไม่รู้สึกถึงสมรรถภาพของปอดที่ลดลง แต่ถ้าออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ออกแรง อาจจะรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
สมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยดูแลปอด และหาได้ทั่วไป น่าจะไม่พ้น ขมิ้นชัน ที่จากการศึกษาวิจัยพบว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง สูงกว่าวิตามินอี (Vitamin E) ถึง 8 เท่า สารสำคัญในขมิ้นชันจะเข้าไปช่วยลดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจและปอด ทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการถูกทำลายของปอดจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในหลอดลม เนื้อเยื้อปอด และหลอดเลือดปอด
ขมิ้นชันมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารของชาวเอเชีย จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง
“มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ กับการทำงานของปอดในผู้สูบบุหรี่ ผู้เคยสูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ ผลการศึกษา พบว่า การบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ (อย่างน้อยเดือนละครั้ง) มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับค่าสมรรถภาพของปอด (FEV1 และ FEV1 / FVC) ที่ดีขึ้น ยิ่งบริโภคแกงที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบมาก สมรรถภาพของปอดยิ่งสูงมากขึ้น”
ในทางการแพทย์แผนไทย ขมิ้นชันมี รสขม ฝาด เฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย เข้าตำรับยา ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี แผลพุพอง ลดอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว (ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร ม.อุบล)
วิธีการรับประทานที่แนะนำจะอยู่ที่ ครั้งละ 500 - 1000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
ห้ามรับประทานในผู้ที่มีภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ระวังการใช้ ในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
อ้างอิง
1.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร,เข้าถึงได้จาก https://www.abhaiherb.net/article/ขมิ้นชัน-ควรรับประทานขมิ้นชันตามเวลาไหนบ้าง-มาดูกัน
2. ฉัตรชัย สุรศักดิ์,ทบทวนงานวิจัยสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย. 2016