ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค. 2565 ประเทศไทยกำหนดให้โรคโควิด-19 สู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) มีผลให้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง ตามราชกิจจานุเบกษา ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 46 ให้การสวมหรือถอดหน้ากากให้เป็นตามความสมัครใจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้หลาย ๆหน่วยงานออกมาเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่ยังมีสถานที่ที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะสถานที่แออัด
เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 แต่การกระจายตัวของเชื้อยังคงมีอยู่ ดังนั้น กลุ่มคน 608 หรือ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันหรือกลุ่มคนที่มีการทำงานของปอด ไม่เท่าคนปกติ คือ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และรวมทั้งสตรีตั้งครรภ์
นอกจากกลุ่มคน 608 แล้ว อีก 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่แพ้กันคือ เด็กที่มีอายุ ต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อ จะมีอาการปอดอักเสบได้ง่าย การทำงานของระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และจะเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนปกติ ซึ่งกลุ่ม 608 นี้ต้องระมัดระวัง และยังคงดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อ และติดเชื้อโควิด – 19 ได้
วิธีการดูแลตัวเองของกลุ่ม 608 เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี
1.ดูแลตัวเองให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย มีอารมณ์ที่แจ่มใส ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว นอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมง
2.งดการรวมกลุ่ม เลี่ยงใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก และเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น
3.ไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน ถ้าหากจำเป็น ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 2 เมตร ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ และแนะนำให้ตรวจ ATK หลังใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง หรือหลังจากไปในที่แออัด หากตรวจพบเชื้อให้รีบไปพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากได้รับเชื้อ และรักษาจนหายดีแล้ว ยังคงมีอาการที่เป็นต่อเนื่องได้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก ได้ให้ความรู้เรื่องการดูแลประชาชนที่มีอาการหลังติดเชื้อ Long COVID หรือภาวะ Post COVID-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยการใช้ตำรับยาสมุนไพรดังนี้
- ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ ลดไข้ ต้านการอักเสบ
- ยาห้าราก สรรพคุณ ถอนพิษไข้
- ยาประสะจันทน์แดง สรรพคุณลดไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ
- ยาจันทน์ลีลา สรรพคุณ แก้ไข้ ปวดหัว ตัวร้อน
- ยาหอมนวโกฐ สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน ลมปลายไข้
- ยาตรีผลา ยาน้ำแก้ไอผสมมะขามป้อม
- ยาอมมะแว้งและตรีผลา สรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ
- ยาขิง สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด
- ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ได้แก่ ตำรับน้ำมันกัญชา สรรพคุณ แก้อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร
- ตำรับแก้ลมแก้เส้น สรรพคุณ แก้อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บแน่นหน้าอก ปวดจุกท้อง
- ตำรับศุขไสยาสน์ สรรพคุณ แก้อาการนอนไม่หลับ อาการอารมณ์เปลี่ยนแปลง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เป็นต้น
กลุ่มคน 608 เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่ไม่ได้รับวัคซีน ถ้าหากติดเชื้อ หรือมีอาการ Long COVID ต้องการใช้ยาสมุนไพร แนะนำให้ปรึกษา แพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ก่อนการใช้ยา เพื่อความปลอดภัย
พท.ภ.จิราภา ทองพึ่งสุข
ข้อมูลอ้างอิง
1. ผู้สูงวัยดูแลตัวเอง ห่างไกลโควิด ,ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา
2. ความรู้เรื่องการดูแลประชาชนที่มีอาการหลังติดเชื้อ Long COVID หรือภาวะ Post COVID-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย,กรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก