สมุนไพรวัยทอง เลือกอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง

 

“ ร้อนวูบวาบ  นอนไม่หลับ  หงุดหงิดง่าย  วิตกกังวลง่าย  ช่องคลอดแห้ง หย่อน

ความต้องการทางเพศลดลง ผิวหนังเหี่ยว ขาดความยืดหยุ่น เต้านมหย่อนไม่เต่งตึง ”

 

                  อาการเหล่านี้ คืออาการแสดงหลังหมดประจำเดือน ที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนต้องเจอ  เพราะในช่วงอายุตั้งแต่ 40-59 ปี ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิงลดน้อยลง เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร และจะเกิดปัญหาสุขภาพ โรคต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย เช่น โรคความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน และอื่น ๆ

                 เนื่องจากฮอร์โมนจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนหยุดผลิตไป จึงทำให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดอาการต่าง ๆ ดังข้างต้น สารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายหรือสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศได้ จะเป็นสารกลุ่มไอโซฟลาโวนที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไฟโตเอสโตรเจน ทำหน้าที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง จะสามารถรักษาสมดุลของฮอร์โมนได้หากได้รับสารอาหารอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 เดือน    ซึ่งสมุนไพรที่มีสารไอโซฟลาโวนมีหลายชนิด แต่หลัก ๆที่เป็นที่รู้จักก็จะมี

          สารสกัดจากถั่วเหลือง

มีสารไอโซฟลาโวนที่สำคัญ คือ เดดซีน (daidzein) และ จีนิสที (genistein) เป็นสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน

สรรพคุณ

            1.บรรเทาอาการหมดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบ

            2.ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันอุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่

            3.ช่วงเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย จัดการน้ำหนัก

            4.ป้องกันกระดูกพรุน

            5.ช่วยให้นอนหลับสบาย

วิธีการทาน : รับประทานให้ได้สารไอโซฟลาโวน 50-100 มิลลิกรัม/วัน

ผลข้างเคียง : ท้องอืด แน่นท้อง ท้องอืด เนื่องจากในถั่วเหลืองมีโปรตีนมาก แต่อาจจะไม่เกิดกับทุกคน
ข้อควรระวัง : ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษหากรับประทานต่อเนื่อง แต่ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ถั่ว หรือถั่วเหลือง

           ว่านชักมดลูก

มีสารกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์ (Diarylheptanoid) เป็นกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน

สรรพคุณ

            1.รักษาอาการของสตรี ประจำเดือนมาไม่ปกติ

            2.ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว

            3.ขับน้ำคาวปลา

            4.ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน

            5.บรรเทาอาการวัยทอง

วิธีการทาน: รับประทานผงว่านชักมดลูกบดแห้ง  250 -500  มิลลิกรัม/วัน

ผลข้างเคียง: มีตกขาวมากกว่าปกติ จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยสุดในการทานว่านชักมดลูก  วิงเวียนศีรษะ มีผื่นขึ้น ตึงหน้าอก หรือปวดมดลูก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือร่างกายของผู้ที่รับประทานไม่แข็งแรง

ข้อควรระวัง : 1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาตัวนี้ ผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน  เนื่องจากว่านชักมดลูกมีฤทธิ์การหลั่งน้ำดี  

                  2. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และไม่ควรใช้ขณะมีรอบเดือน เนื่องจากว่านชักมดลูกมีฤทธ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก

          กวาวเครือขาว

มีสารดิออกซีไมโรเอสทรอล  (deoxymiroestrol และ miroestrol )  เป็นกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน

สรรพคุณ

            1.บำรุงสุขภาพ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต

            2.แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

            3.แก้อ่อนเพลีย ผอมแห้ง นอนไม่หลับ

            4.บำรุงความกำหนัด ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์และมดลูกมีเลือดมาคั่งมากขึ้น

            5.บำรุงอวัยวะสืบพันธุ์ให้เจริญ

            6.ผิวหนังเต่งตึงมีน้ำมีนวล

            7.ช่วยลดอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน

วิธีการทาน:  ผงกวาวเครือขาวบดแห้ง ไม่เกิน  50-100 มิลลิกรัม/วัน

ผลข้างเคียง: อาการมึนเมา คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากมีสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนสูง จะไปรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมน

ข้อควรระวัง :  ห้ามใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพราะสารที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน

 

             จากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมา ก็จะมีสรรพคุณและข้อควรระวังที่ต่างกันไป เรียงลำดับผลข้างเคียงจากน้อยสุดไปมากสุดจะได้สารสกัดจากถั่วเหลือง ฟลาวาซอย มีความปลอดภัยสูงกว่า ว่านชักมดลูก และมีความปลอดภัยมากกว่ากวาวเครือขาว พอรู้อย่างนี้แล้วก็สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับร่างกายตัวเองได้ หรือหากไม่มั่นใจ ก็สามารถสอบถามข้อมูลจากแพทย์แผนไทย เข้ามาได้ที่ ไลน์ (สแกน QR Code)
 

พท.ภ. จิราภา ทองพึ่งสุข

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่

 

แหล่งข้อมูล

1.ว่านชักมดลูก. [บทความออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก .https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article

2.กวาวเครือขาว. [บทความออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article

3.ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองสำหรับสตรีวัยทอง. [บทความออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article

4.ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. กวาวเครือขาว.[บทความออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก. https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/main.php?action=viewpage&pid=15

5.ถั่วเหลืองสรรพคุณคู่แท้ สตรีวัยทอง [บทความออนไลน์ ]. เข้าถึงได้จาก. https://oryor.com/media/checkSureShare/media_printing/1054

6.ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สํานักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.กวาวเครือขาว 

7.อัญชลี ชุ่มบัวทอง. กวาวเครือขาว : ราชินีแห่งสมุนไพรไทย.

8. Supanimit Teekachunhatean,Paveena Pongnad, Noppamas Rojanasthein, Maleeya Manorot, and Chaichan Sangdee .Research Article Effects of Vitamin D plus Calcium Supplements on Pharmacokinetics of Isoflavones in Thai Postmenopausal Women ,2011